การเทรด Forex ผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ประเด็นคำถาม: การเทรด Forex กับโบรกเกอร์ต่างประเทศผิดกฎหมายหรือไม่ ?
- เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีบทบัญญัติหรือข้อห้าม ให้บุคคลทั่วไปเข้าไปทำธุรกรรมดังกล่าว
- กล่าวโดยสรุปคือ การที่บุคคลทั่วไปในประเทศไทยจะเทรด Forex กับโบรกเกอร์ต่างประเทศ
- เป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยชอบธรรม ไม่ได้ผิดกฎหมาย
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, fpo.go.th วันที่ 4 ก.ค. 2560
"กรณีที่ปัจจุบันมีเว็บไซต์จากต่างประเทศชักชวนให้ประชาชนลงทุนในการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศ ในลักษณะเก็งกำไรค่าเงินนั้น จากการศึกษาของ สศค. และธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าใจว่า การลงทุนเพื่อ เก็งกำไรดังกล่าวไม่ได้มีการซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศโดยตรง แต่เป็นเพียงกระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีแม่ข่ายอยู่ในต่างประเทศ และผลการดำเนินการจะมีการชำระบัญชีของส่วนต่างที่เป็นผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการดำเนินธุรกรรม ในลักษณะดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงทั้งจากความเสียหายจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและการผิดนัดชำระเงินคืน
ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ใดประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยน ในลักษณะการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น หากมีบุคคลใดมาชักชวนให้ร่วมลงทุนในลักษณะดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ท่านอาจโดนมิจฉาชีพหลอกลวงมีโอกาสได้รับความเสียหาย"
ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ
1. การเทรด Forex กับโบรกเกอร์ต่างประเทศ อยู่นอกเหนือความคุ้มครองจากหน่วยงานรัฐในประเทศไทย
- ซึ่งหมายความว่า หากนักลงทุนเทรดกับโบรกเกอร์ต่างประเทศ แล้วเกิดความเสียหายหรือโดนฉ้อโกง
- นักลงทุนจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นเอง
- หากจะฟ้องร้องบริษัทเหล่านั้น ก็อาจต้องไปเดินเรื่องเองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ
2. หน่วยงานจดทะเบียนในต่างประเทศ
- โบรกเกอร์ต่างประเทศที่มีมาตรฐาน จะมีการจดทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ
- ซึ่งหน่วยงานจดทะเบียนเหล่านี้ จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อป้องกันการทุจริตฉ้อโกง
- ตัวอย่างเช่นการตรวจสอบ มาตรฐานการดำเนินงาน, การตรวจสอบธุรกรรม, การรายงานสถานะทางการเงิน
- และรวมถึงการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน จากนักลงทุนหรือผู้ใช้บริการ
- และที่ผ่านมาแทบไม่เคยพบการทุจริตกับโบรกเกอร์ ที่จดทะเบียนกับหน่วยงานที่มีความเข้มงวด
- ข้อมูลเพิ่มเติม: หน่วยงานจดทะเบียนต่างประเทศ
*ตัวอย่างหน่วยงานจดทะเบียน ที่มีความเข้มงวด:
1. ASIC
- คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และการลงทุน,ออสเตรเลีย (Australian Securities and Investments Commission)
- เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตทางการเงิน และต่อต้านการทุจริตในตลาดทุน
- ข้อกำหนดเบื้องต้น: โบรกเกอร์ที่จดทะเบียนกับ ASIC ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญ
- ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์ ASIC
2. FCA UK
- องค์การกำกับทางการเงิน,สหราชอาณาจักร (Financial Conduct Authority United Kingdom)
- ข้อกำหนดเบื้องต้น: โบรกเกอร์ที่ควบคุมโดย FCA ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างน้อย 1 ล้านปอนด์
- วงเงินชดเชย 50,000 ปอนด์ต่อบัญชีในกรณีที่โบรกเกอร์ล้มละลาย
- ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์ FCA
3. CySEC
- คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์,ไซปรัส (Cyprus Securities and Exchange Commission)
- ข้อกำหนดเบื้องต้น: โบรกเกอร์ที่จดทะเบียนกับ CySEC ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างน้อย 750,000 ยูโร
- วงเงินชดเชยเงิน 20,000 ยูโรต่อบัญชีในกรณีที่โบรกเกอร์ล้มละลาย
- ข้อมูลเพิ่มเติม: เว็บไซต์ CySEC
การระดมทุน เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
การระดุมทุนที่อ้างว่าจะจ่ายผลตอบแทนในอัตราที่สูง, การรับประกันผลกำไร ลักษณะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
- เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และมีความผิดตามกฎหมาย
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: พ.ร.บ. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
เรื่องนี้มีข่าวให้เห็นบ่อยครั้ง การนำ Forex ไปอ้างเพื่อการระดมทุน, แชร์ลูกโซ่
- ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล และเคยเกิดกรณีมูลค่าความเสียหายสูงถึงระดับหมื่นล้านบาท
- เรียนรู้เพิ่มเติม: มิจฉาชีพในวงการ Forex
พ.ร.บ. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน มาตรา 4
"ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไปผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน"
การเปิดโบรกเกอร์ Forex ในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้
ปัจจุบันในประเทศไทย ยังไม่ได้มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ใดประกอบธุรกิจดังกล่าว
- ซึ่งหมายความว่าการที่จะก่อตั้งโบรกเกอร์ Forex ขึ้นในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถทำได้
- เนื่องจากยังไม่มีการออกใบอนุญาต ให้ผู้ใดประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมาย
เทรด Forex ต้องเสียภาษีหรือไม่?
กำไรที่ได้รับจากการเทรด Forex เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทย ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
- รายได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากร
- บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เกิน 60,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 ตามกฎหมาย
- เรียนรู้เพิ่มเติม: Forex เสียภาษีอย่างไร ?
สรุปกฎหมายไทย กับการเทรด Forex
การที่บุคคลทั่วไปจะเทรด Forex ผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศ ไม่ได้ผิดกฎหมาย
- เพราะการเทรด Forex ผ่านโบรกเกอร์ต่างประเทศเป็น CFD (Contract for Difference) เรียกว่าสัญญาซื้อขายส่วนต่าง
- ซึ่งไม่ได้เป็นการซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยตรง จึงไม่ได้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
- แต่ต้องทำความเข้าใจว่า หากเกิดความเสียหายหรือโดนฉ้อโกง นักลงทุนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นเอง
- เพราะอยู่นอกเหนือความคุ้มครองจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศ
- ดังนั้นการพิจารณาเลือกโบรกเกอร์ Forex ที่มีความน่าเชื่อถือจึงมีความสำคัญมาก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
- ส่วนการระดมทุน, และการเปิดโบรกเกอร์ฟอเร็กซ์ในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ และผิดกฎหมาย
- กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน